วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

จบ(ดน)ตรีแล้วไปไหน

      “เอกดนตรีสากล”  คือ 1 ในสาขาวิชาที่ถูกผู้ปกครองกีดกันมิให้ลูกหลานในวัยอุดมศึกษาของตนเองเข้ามาศึกษามากที่สุดด้วยเหตุผลนานานับประการ  แต่ถึงกระนั้น หลายๆคนก็สามารถดื้อดึงฝ่าฟันที่จะเข้ามาเรียนในสาขาวิชาคณะนี้กันจนได้ แม้ว่าในบางมหาวิทยาลัยจะต้องสอบแข่งขันทั้งประเทศ  นี่ยังไม่รวมค่าเทอมที่แพงเหมือนเรียนหมออีกด้วย
       นอกจากนี้เหล่าบรรดานักศึกษาเอกดนตรีสากลก็จะต้องเจอกับคำถามจากสังคมคนรอบข้างอีกไม่น้อย และในบรรดาคำถามสุดคลาสสิคนี้ก็คงหนีไม่พ้น “จบไปจะทำอะไรกิน ??!!!”
       วันนี้ก็เลยจะมาช่วยน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่และที่กำลังจะจบ หรือแม้แต่น้องๆที่อยากจะเข้ามาเรียนในสาชาวิชาดังกล่าวนี้ เอาไว้ฟาดฟัน เอ้ย!! เอาไว้ตอบคำถามกับผู้ปกครองและคนรอบข้างเลยล่ะกันว่า คนที่เรียนจบดนตรีนั้นสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง มาเริ่มที่อาชีพแรกกันเลย
นักดนตรี
       จบดนตรี ก็ต้องเป็นนักดนตรีซิ!  อาจจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อยแต่นี่มันคือเรื่องจริงในที่นี้คือ นักดนตรีกลางคืน,เล่นตามงาน Event,รับจ้างอัดเสียง,เล่นแบ็คอัพให้ศิลปิน อาชีพนี้มีอยู่จริงๆ และที่สำคัญ!! สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้จริง ไม่ได้ลำบากไส้แห้งอย่างที่ใครๆเขาว่ากัน บางคนสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองถึงเดือนล่ะแสนบาทก็มี โดยเฉพาะถ้าใครมีวินัยในการเก็บออมและรู้จักลงทุนแล้วล่ะก็ อาชีพนี้สามารถสร้างความร่ำรวยได้ไม่ยากเย็น
อาจารย์สอนดนตรี
       นับว่าเป็นอาชีพที่สังคมไทยบ้านเรามักจะให้ความนับหน้าถือตากันมากในอาชีพนี้ ในที่นี้รวมไปถึงการสอนทั้งในมหาวิทยาลัย,โรงเรียนประถม,มัธยม,สถาบันดนตรี,รับสอนเอง หรือบ้านใครที่มีทุนหนาพอที่จะเปิดเป็นโรงเรียนดนตรีของตัวเองก็จะยิ่งมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัวได้อย่างสบายๆเช่นกัน
Composer , นักเรียบเรียงเสียงประสาน
       เป็นอาชีพที่ต้องมีความรู้ทางทฤษฏีดนตรีขั้นสูงมากๆสำหรับอาชีพนี้ ซึ่งหลายๆคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาชีพนี้กันสักเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่ว่านี่คืออาชีพที่มีความสำคัญต่อทั้งงานเพลงตลาดทั่วๆ ไปจนถึงผลงานเพลงในงานพิธีสำคัญๆระดับประเทศอีกด้วย  โดยลักษณะงานส่วนใหญ่แล้วก็จะมีตั้งแต่เป็นออกแบบเสียงประสานของเครื่องสายไม่กี่ชิ้น ไปจนถึงวง Orchestra ขนาดใหญ่
 Arranger
       ลักษณะงานของ Arranger ก็คือ จะเป็นคนที่มีหน้าที่ทำดนตรี,เพลงประกอบภาพยนต์,โฆษณา,เพลงในรายการทีวี,Spot วิทยุ รวมไปถึงทำงานเพลงในค่ายเพลงขนาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งบอกได้เลยว่างานในลักษณะ Music production นั้นมีค่อนข้างเยอะ  ตามเครดิตของตัวArrangerและงบของลูกค้า  ซึ่งสำหรับคนที่มีความสนใจในงานด้านนี้นั้น ต้องมีความสามารถทั้งความรู้เรื่องดนตรีและทักษะการใช้โปรแกรมทำดนตรีควบคู่กันไป
 นักแต่งเพลง   
       ในที่นี่คือคนที่เขียนเนื้อร้อง,คำร้อง ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักและคุ้นเคยกับคนที่ทำงานด้านนี้อยู่บ้าง เพราะนักแต่งเพลงในบ้านเรานั้นถือว่า เป็นอาชีพที่มีชื่อเสียงพอๆกับศิลปินเบื้องหน้าเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น พี่ดี้ นิติพงษ์,พี่นิ่ม สีฟ้า ,พี่สุรักษ์ สุขเสวี,พี่ฟองเบียร์ และอีกมากมายที่เป็นเจ้าของเพลงฮิตที่มาจากปลายปากกาของบุคคลเหล่านี้ทั้งสิ้น นอกจากอาชีพคนเขียนคำร้องจะสามารถทำงานกับศิลปินดังๆได้แล้วนั้น ยังสามารถทำงานให้กับองค์กรต่างๆได้อีกด้วย
 Conductor วาทยกร
       คิดว่าหลายคนคงเคยสงสัยว่าคนที่ถือไม้กายสิทธิ์ (ชื่อจริงๆคือไม้บาตอง) แล้วโบกไปมาอยู่หน้าวง Orchestra นั้นคือใคร ทำหน้าที่อะไร แล้วทำไมถึงต้องมี ซึ่งหน้าที่ของ Conductor นั้นคือให้จังหวะ ให้คิวของนักดนตรีและสื่อสารอารมณ์ของบทเพลงที่กำลังบรรเลงอยู่นั่นเอง แต่บอกได้เลยว่ามันไม่ง่ายที่ใครจะมารับหน้าที่นี้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องเล่นเครื่องดนตรีแต่ก็ต้องทำหน้าที่ที่หนักไม่แพ้นักดนตรีที่กำลังเล่นอยู่ ซึ่งสำหรับน้องๆที่สนใจในงาน Conductor นี้ก็ต้องเตรียมตัวทำการบ้านอย่างหนักเลยเดียว แต่ค่าตอบแทนบอกเลยว่าคุ้มค่ากับความทุ่มเทแน่นอน
Producer         
       สำหรับในวงการเพลงบ้านเรา ย้ำว่าในบ้านเรา!! นี่คืออาชีพที่เหนื่อยที่สุด!! หนักที่สุด!!  เพราะ Producer บางคนต้องทำเองทั้งทำนอง,เนื้อร้อง,Mixdown,Mastering ทั้งนี้เนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัด Y_Y จึงต้องทำหน้าที่เองทั้งหมด  ซึ่งหน้าที่หลักๆของโปรดิวซ์เซอร์ก็คือดูภาพรวมทั้งหมด ทั้งเรื่องตัวเพลง เรื่องบริหารจัดการงบประมาณ รวมไปถึงเรื่องการตลาดเทคนิคต่างๆในการโปรโมทเพลง อาชีพนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีทั้งทักษะเรื่องดนตรีขั้นสูงแล้ว และยังต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างมากอีกด้วย
Studio sound engineer & Live sound engineer 
       อีกหนึ่งแขนงที่ดูเผินๆเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับดนตรี แต่จริงๆแล้วนี่คืออาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีมากที่สุดอีกอาชีพหนึ่ง Sound engineer คือผู้ที่เอาศาสตร์ของฟิสิกส์และศาสตร์ของศิลปะมารวมกัน นั่นหมายความว่าผู้ที่สนใจในด้านนี้ต้องมีความรู้ทั้งเรื่องดนตรีแล้วก็ต้องมีความรู้ในวิชาการคำนวณอีกมากมาย ซึ่งดูขัดต่อธรรมชาติของผู้เรียนดนตรีมากๆ  ฮ่าๆๆ สำหรับ Sound engineer นี้มีทั้งแบบกลางแจ้งและในห้องอัด ซึ่งความยากง่ายก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้สำหรับอาชีพนี้แล้วล่ะก็ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว
Music Director & Vocal Director 
       อีกหนึ่งอาชีพที่ดูไม่คุ้นหูแน่นอนสำหรับใครหลายคน แต่อาชีพนี้จะเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากๆในการแสดงคอนเสิร์ต  ซึ่งลักษณะงานของ Music Director นี้จะเป็นผู้ที่ควบคุมดูแลเพลงทั้งหมดในคอนเสิร์ตให้มีความต่อเนื่องและสมบูรณ์แบบที่สุด และมีหน้าที่ในการคัดเลือกนักดนตรีที่จะมาเล่นในคอนเสิร์ตนั้นๆด้วย บางครั้งต้องรับหน้าที่ในการ Arranger เพลงใน Show เพื่อให้เกิดความใหม่และหลากหลายของ Show อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องมีทักษะและประสบการณ์ทางดนตรีและการเรียบเรียงขั้นสูงมากๆเลยทีเดียว ส่วนเรื่องของรายได้บอกได้เลยว่ามหาศาลอย่างแน่นอน และสำหรับ Vocal Director  ก็จะคล้ายๆกับ Music Director แต่ Vocal Director  คือคนที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของการร้องทั้งหมด รวมไปถึงการดูในพาร์ทคอรัสทั้งหมดบนเวทีคอนเสิร์ต
 Music Columnist   
       ผ่านไปแล้วสำหรับอาชีพทางสายงานดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแล้ว คร่าวนี้มาถึงงานของนักเขียนที่มีหัวใจเป็นดนตรีกันบ้าง ซึ่งงานของนักเขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีนั้น ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นนักเขียนประจำนิตยสารดนตรี,หรือนักเขียนอิสระก็ตาม แล้วยิ่งในปัจจุบันนักเขียนอิสระสามารถขายบทความได้ทางออนไลน์อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ที่สนใจในด้านนี้ได้อีกหนึ่งช่องทาง

วง(การ)ดนตรี

       ใ น ยุ ค ที่มีแค่คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวก็สามารถที่จะมีเพลงเป็นของตัวเองหรือให้ใครต่อใครเรียกเราว่าศิลปินได้แล้ว แถมยังมีพื้นที่ในการโปรโมทที่หลากหลายช่องทาง ซึ่งดูแล้วเหมือนจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับศิลปินอินดี้ยุคใหม่ ๆ  แต่ในความง่ายนั้นกลับมีความโคตรยากซ่อนอยู่เช่นกัน เพราะด้วยความที่ใคร ๆ ก็ทำได้จึงทำให้มีเพลงและศิลปินอินดี้หน้าใหม่เกิดขึ้นมาในแต่ล่ะวันไม่ซ้ำหน้าและนอนเกลื่อนเต็มตลาดไปหมด หวังแต่เพียงว่าวันนึงจะมีกลุ่มคนที่หลงเข้ามาฟังและทำการกรอกใบสมัครเป็นแฟนคลับ ซึ่งทุก ๆ วงก็ต่างงัดเอาไอเดียทุ่มความสามารถลงบนผลงานของตัวเองกันอย่างเต็มที่ ทำทุกวิถีทาง ทั้งลด แลก แจก แถม ส่วนวงไหนมีอันจะเหลือกิน ก็อาจจะโปรโมทด้วยการซื้อโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงพื้นที่บนโลก Social ให้ผลงานของตัวเองได้มีโอกาสในการโลดแล่นเข้าไปสู่โสตประสาทของคนฟังให้ได้มากที่สุด ทำให้เจ้าของสื่อนั้น ๆ ได้โกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเองกันอย่างสนุกสนาน
       นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนทำธุรกิจที่ต้องมีความเกี่ยวข้องราวกับว่าได้แขวนและฝากชีวิตไว้บนเส้นด้ายกับความไม่แน่นอนของวงการนี้ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น
– ร้านน้องท่าพระจันทร์  ร้านขายแผ่นเสียงและซีดีที่ร่วมชะตากรรมฝ่าฟันกับคนดนตรีมาอย่างยาวนาน
– ร้าน Play yard by studio bar ร้านรวมพลคนเสพงานเพลงยามราตรี ที่มักจะเปิดโอกาสให้กับอินดี้หน้าใหม่และหน้าเก่าได้แวะเวียนขึ้นมาปล่อยของกันอยู่เสมอๆ
– ฟังใจ ศูนย์รวมเพลงและ content ทางดนตรีนอกกระแส เปรียบเสมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวอินดี้ทั้งหลาย  ทำให้กลุ่มศิลปินผู้น่าฉงฉานไม่ต้องไม่หวังพึ่งค่ายเพลงเหมือนเมื่อก่อน โดยที่ยังสามารถส่งผลงานเพลงไปให้ถึงมือ ถึงหูผู้ฟังได้เหมือนเดิม
       จะว่าไปแล้วก็อาจเป็นโอกาสดีของค่ายเพลงต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเสียเวลาเสียสตางค์มาคอยปั้นศิลปินให้โด่งดังด้วยมือตัวเองอีกต่อไป ปล่อยให้ระบบการคัดสรรของโลกเพลงใต้ดินเป็นตัวตัดสินเองว่า ใครเหมาะที่จะขึ้นมาเจิดจรัสฉายแสงอยู่บนดิน และบรรดาอา ๆ เฮีย ๆ ตามค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็จะเข้ามาจับจ่ายเลือกซื้อศิลปินกึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ ที่มีทั้งฐานแฟนคลับและเพลงฮิตร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว ซึ่งบรรดาอา ๆ เฮีย ๆ ก็อาจจะใช้วิธีขายฝันไปต่าง ๆ นา ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเงินทุนที่สูงกว่าในการสร้างผลงานชิ้นต่อไป โอกาสที่มากขึ้นในการไปปรากฏตัวและยืนแอ็คอยู่ตามสื่อดัง ๆ รวมไปถึงโอกาสในการได้เล่นคอนเสิร์ตบนเวทีที่ใหญ่ขึ้นกว่าตอนแรกที่ต้องเล่นตามร้านเหล้าเล็ก ๆ หรือแม้แต่ความสะดวกสบายในการเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ต เปลี่ยนจากรถตู้โดยสารที่อัดแน่นไปด้วยเครื่องดนตรีเป็นเครื่องบินโดยสารระดับ first class ที่สามารถนั่งไขว่ห้างจิบกาแฟและมองก้อนเมฆอยู่ริมหน้าต่าง
       ในขณะทางด้านผู้ผลิตต้องรบ รา ฆ่า ฟันกันแทบเป็นแทบตาย ทางด้านผู้บริโภคนั้นกลับสามารถยืนอยู่ในจุดที่ไม่ต้องลงทุนใด ๆ เลยในการเสพงานศิลปะชนิดนี้ ขอแค่เสียสละแรงนิ้ว เสียสละเวลา และนั่งสวย ๆ อยู่บนโซฟาพร้อมกดเข้ามาฟัง เพียงเท่านั้นศิลปินก็แทบจะก้มลงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์เพื่อเป็นการขอบคุณแล้ว โดยที่ศิลปินไร้ซึ่งข้อต่อรองใด ๆ จะมาทำเป็นหวงผลงานไม่ยอมปล่อยมาบนโลกออนไลน์ก็ใช่ที่ เพราะไม่ว่าวงไหน ๆ เขาก็ยินดีที่ให้ฟังกันฟรี ๆ กันทั้งนั้น แถมคนฟังก็ไม่ได้มีความกระหายในการเสพขนาดนั้น การที่วงไหนไม่ปล่อยใน Youtube นั้นเรียกได้ว่าแทบจะหมดโอกาสในการขายไปเลยทีเดียว แถมคนฟังผู้น่ารักยังไปติดตั้งโปรแกรมที่สั่งให้กดข้ามโฆษณาแบบอัตโนมัติอีกด้วย
       เนื่องจากงานเพลงกลายเป็นของฟรี เลยทำให้กระแสของเม็ดเงินที่เข้ามามีความฝืดตามไปด้วย ทำให้ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งค่ายเพลง นักแต่งเพลง ทีมงานเบื้องหลัง หรือตัวศิลปินเอง ก็ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก หลาย ๆ คนก็เลือกที่จะหันไปประกอบสัมมาอาชีพอื่น เพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอด และเปลี่ยนจากที่เคยยึดงานเพลงเป็นอาชีพมาเป็นงานอดิเรกแทน ซึ่งในบางครั้งมันกลับส่งผลดีในเชิงศิลปะ เพราะไหน ๆ ก็จะไม่ได้ตังค์กันอยู่แล้ว ตัวศิลปินก็เลิกหวังที่จะต้องทำผลงานเพื่อเอาใจคนหมู่มาก และหันกลับมาสร้างผลงานเพื่อเอาใจตัวเองมากขึ้น จึงทำให้วงการเพลงในบ้านเราเกิดความแปลกใหม่ของงานเพลง เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองทางไอเดียกันเลยทีเดียว ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนในอดีต
       ซึ่งไม่แน่การพัฒนาในแง่นี้อาจจะส่งผลให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามา ทำให้วงการเพลง วงการดนตรีในบ้านเรากลับมาคึกคักกันอีกครั้งก็เป็นได้ ตัวอย่างศิลปินที่แปลกใหม่แล้วดังมีตังค์ใช้ก็มีอยู่หลายวง ไม่ว่าจะเป็น Poliy cat  The yer  สมเกียร์ติ molosonic  เห็นไหมครับ ขนาดเขียนชื่อวงผิดยังอ่านกันรู้เรื่องเลยว่าพูดถึงวงไหน   เพราะนะฉั้น อุ้ย!!  เพราะฉะนั้น ศิลปินเหล่านี้ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการพิสูจน์ว่า แตกต่างก็มีตังค์ได้เช่นกัน
                                                                                                  เอ…….เมนด้วยประด้วยประการฉะนี้